การใช้ยาในเด็ก

              เด็กเป็นวัยที่หลาย ๆ ส่วนของร่างกายยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ทำให้เมื่อได้รับยาเข้าไปแล้วอาจมีผลข้างเคียงมากกว่าผู้ใหญ่ หลายครั้งที่พบว่าผู้ปกครองบางคนสับสนและมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการใช้ยาในเด็ก หรือมีความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง เราจึงรวบรวมสาระดี ๆ เกี่ยวกับ การใช้ยาในเด็ก ที่ควรปฏิบัติมาฝาก ดังนี้
              1.ยาที่ใช้กับเด็กส่วนใหญ่ต้องผ่านการคำนวณขนาดยาจากอายุ หรือน้ำหนักโดยแพทย์หรือเภสัชกรก่อนทุกครั้ง และต้องใช้ยาสำหรับเด็กจึงจะเหมาะสมที่สุด
              2.ใช้ยาเฉพาะเมื่อมีข้อบ่งชี้เท่านั้น ใช้ด้วยความระมัดระวัง ไม่ใช้บ่อยเกินความจำเป็น
              3.ปฏิบัติตามคำแนะนำเกี่ยวกับปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาอย่างเคร่งครัด ไม่ควรปรับเปลี่ยนขนาดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน ควรอ่านฉลากยาให้ถี่ถ้วนก่อนใช้ยา และสังเกตลักษณะทางกายภาพของยาว่าเปลี่ยนแปลงจากที่เคยใช้หรือไม่ หากมีการเปลี่ยนแปลงไม่ควรนำยานั้นมาใช้
              4.หากยังอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สะดวกจะพบแพทย์หรือเภสัชกร ควรเลือกยาที่มีความปลอดภัยสูง และเลือกยาที่คุ้นเคยหรือที่เคยใช้แล้วปลอดภัย 
              5.ไม่ควรให้ยาพร้อมกับอาหารสำหรับเด็ก เพราะจะทำให้เด็กปฏิเสธอาหารในภายหลัง
              6.ไม่ควรผสมยากับนมในขวด เพราะเมื่อเด็กดูดนมไม่หมดจะทำให้เด็กได้รับยาไม่ครบตามขนาดที่ต้องการ และยาบางชนิดอาจมีประสิทธิภาพของยาลดลงเมื่อกินร่วมกับนม
              7.ไม่ควรให้ยาแก่เด็กในขณะที่ดิ้นหรือร้องไห้ เพราะอาจทำให้เด็กสำลักได้
              8.ไม่แนะนำให้นำยามาบดเองแล้วแต่งรสด้วยน้ำเชื่อม
              9.ไม่ควรสั่งซื้อยาทางอินเทอร์เน็ต เนื่องจากไม่มีคำแนะนำในการใช้ยาและมีความเสี่ยงว่าฉลากยาที่บรรจุภายในจะให้ข้อมูลไม่ตรงกับความเป็นจริงหรือมีสารอันตรายเจือปน รวมถึงหลีกเลี่ยงการใช้ยาชนิด ใหม่ ๆ โดยไม่จำเป็น
              10.เก็บยาทุกชนิดให้พ้นจากมือเด็ก
              11.เมื่อเด็กโตพอที่จะกินยาเม็ดได้ ควรให้เด็กหัดกลืนยาเม็ด เพื่อลดส่วนผสมของน้ำตาลจากการกินยาน้ำเชื่อมและส่งเสริมให้เด็กมีการพัฒนาการที่สมวัย แต่ไม่ควรให้ยาแก่เด็กทั้งกล่องหรือทั้งแผง ควรให้ครั้งละเม็ดหรือตามปริมาณเท่าที่แพทย์สั่งในหนึ่งครั้งเท่านั้นก              
             12.ห้ามซื้อยาเม็ดผู้ใหญ่มาแบ่งให้เด็กกินเองโดยเด็ดขาด เพราะไม่ใช่ยาทุกชนิดที่สามารถนำมาแบ่งเม็ดยาได้ ยาบางตัวเป็นยาที่มีการปลดปล่อยตัวยาสำคัญแบบพิเศษ การทำลายเม็ดยาโดยการบด ป่น หรือแบ่งครึ่งจะทำให้การปลดปล่อยตัวยาสำคัญเปลี่ยนไปจากเดิม จึงไม่ได้ผลการรักษาเท่าที่ควรหรืออาจได้รับผลข้างเคียงจากยาเพิ่มมากขึ้น
             นอกจากนี้ผู้ปกครองควรอธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับประวัติการใช้ยาและอาการของเด็กแก่แพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ทุกครั้งที่เข้ารับการรักษาเพื่อความปลอดภัยในการใช้ยาของเด็ก ปรึกษาเภสัชกร 

 

 

ข้อมูลอ้างอิง : 

ข้อปฏิบัติการใช้ยาสำหรับเด็ก – Thaihealth.or.th | สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
FISP_Medikamente_Thai.pdf (gesundheitsfoerderung-zh.ch)
https://www.slideshare.net/AimanSadeeyamu/ss-49800534
หมอตี๋แนะพ่อแม่ควรให้ยาลูกอย่างสมเหตุสมผล – สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (childrenhospital.go.th)
https://he01.tci-thaijo.org/index.php/TJPP/article/view/171200/123027
https://oryor.com/%E0%B8%AD%E0%B8%A2/detail/media_printing/1911

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *